2 ม.ค. 2555

บัตรเครดิตคืออะไร? เลือกใช้บัตรเครดิตอะไรดี?


              หลายคนเคยสงสัย ว่าทำไมเราต้องใช้บัตรเครดิต และบัตรเครดิตคืออะไร มีไว้ทำอะไรได้บ้าง ทำไมเราไปช้อปปิ้งที่ไหน ก็มีแต่คนรูดบัตรเครดิต เดินตามห้างสรรพสินค้า และร้านค้าทั่วไป ก็จะมีโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิตเยอะแยะมากมาย บัตรเครดิตกำลังบูมล้นอยู่ในตลาด ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะบูม มันบูมมานานแล้ว หากแต่ว่า กำลังจะยิ่งบูมมากขึ้น ด้วยความที่ใช้ง่าย จ่ายคล่อง และมีคู่แข่งอยู่แทบทุกธนาคาร ก่อนอื่นเรามาดูกันว่า บัตรเครดิตคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร


บัตรเครดิตคืออะไร ความแตกต่าง ระหว่างบัตรเครดิต และ บัตรเดบิต

             บัตรเครดิต คือ บัตรที่เราได้รับวงเงิน (Credit) อนุมัติจากธนาคาร เหมือนเป็นการยืมเครดิตจากธนาคารในการใช้รูดซื้อสินค้า ภายในวงเงินที่ได้รับ โดยไม่จำเป็นจะต้องมีเงินอยู่ในบัญชี หรือฝากไว้อยู่ในบัตรเลยก็ตาม แล้วจึงค่อยชำระเงินในภายหลังตามรอบบัญชีแต่ละเดือน
             ส่วน บัตรเดบิต คือบัตรที่เราจะสมัครคู่กับบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ บัตรจะผูกกับบัญชีเสมอ หลายคนอาจเข้าใจว่ามันคือบัตรเอทีเอ็ม ที่สามารถกดเงินสด โอนเงิน หรือชำระเงินได้ แต่ที่จริงแล้ว บัตรเดบิตทำได้มากกว่าบัตรเอทีเอ็ม มันสามารถรูดซื้อสินค้าได้ด้วย ให้สังเกตบัตร จะมีสัญลักษณ์ วีซ่าอิเลคตรอน Visa Electron อยู่บนหน้าบัตร
             หากเปรียบเทียบบัตรเครดิต และ บัตรเดบิต ต่างกันตรงที่ การใช้บัตรเดบิตนั้น เราจะต้องมีเงินในบัญชีก่อนเท่านั้น เนื่องจากบัตรจะหักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ที่ผูกไว้ทันที ไม่เช่นนั้น จะรูดซื้อสินค้าไม่ผ่าน ส่วนความเหมือนของทั้งคู่ คือ สามารถนำมากดเงินสดได้เหมือนกัน แต่อย่าเรียกว่าเหมือนเลย เดี๋ยวจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด หากกดเงินสดจากบัตรเครดิต (Cash Advance) จะมีค่าธรรมเนียม 3% ขั้นต่ำ 300-500บาท แล้วแต่ธนาคาร และยอดเงินที่กด จะถูกนำไปคิดใน statement ว่าเรายืมธนาคารมาใช้เป็นเงินสดเท่าไหร่ และยังถูกคิดดอกเบี้ยสำหรับยอดเงินที่กดมาใช้อีก หากเราไม่ได้ชำระเงินตรงตามกำหนด ซึ่งไม่นิยมใช้กดกัน เพราะว่าดอกเบี้ยสูงถึงประมาณ 25-28% ต่อปี ในขณะที่บัตรเดบิตให้ใช้กดเงินสดที่มีอยู่แล้วในบัญชีออกมาใช้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆหากกดที่ตู้ของธนาคารเดียวกัน
             ในการใช้บัตรเครดิตนั้น หากเราชำระบัตรเครดิตตรงตามกำหนดทุกงวด การใช้บัตรเครดิตก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับเรา แต่ด้วยความสะดวกในการรูดซื้อสินค้าอาจส่งผลให้เราใช้จ่ายเกินตัว และไม่สามารถชำระ "หนี้" ได้ทัน ก็จำต้องจ่ายดอกเบี้ยตามข้อเสนอของธนาคาร โดยชำระขั้นต่ำเพียง 10% และจ่ายดอกเบี้ยอีกประมาณ 20% ต่อปี นี่คือสาเหตุที่ธนาคารพยายามเชิญชวน (ยัดเยียด) ให้เราใช้บัตรเครดิต บ้างก็ส่งบัตรมาให้ใช้ถึงที่บ้าน เพียงแค่โทรไปเปิดบัตร ก็สามารถใช้งานได้แล้ว

สิทธิประโยชน์ต่างๆ และข้อดีของบัตรเครดิต
1. มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจผู้ใช้ในหลายหลายรูปแบบ เช่น
    - ได้เงินคืน (Cash Back) เงินเครดิตคืนเข้าบัตรในภายหลัง
    - ได้ส่วนลด (Discount)  ได้ส่วนลดทันที ณ ที่จ่าย
    - สะสมคะแนน (Point Reward) สามารถนำไปแลกของหรือคูปองแลกซื้อสินค้าได้อีก
    - สามารถแบ่งจ่าย (Pay Lite) เช่น ชำระ 0% 3, 6, 10 เดือน ฯลฯ
2. พกง่าย ขอแค่จำลายเซนต์ได้ก็พอ และไม่ต้องพกเงินสดติดตัวเป็นจำนวนมาก (บัตรเดบิตก็ทำได้ หากคุณมีเงินในบัญชีพอ)
3. สามารถซื้อสินค้ามาครอบครองได้เลย โดยไม่ต้องจ่ายเงินในทันที  และมีโอกาสนำเงินจำนวนนั้นๆไปลงทุนระยะสั้นหรือเก็งกำไรอย่างอื่นได้
4. สามารถใช้ชำระค่าสาธารณูปโภค และค่าบริการอื่นๆได้ หรือจะหักจ่ายตามรอบบิล Smart Billing ได้อีกด้วย (ข้อนี้สะดวกมากสำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปตามจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ฯลฯ) รวมทั้งสามารถใช้ซื้อของออนไลน์ผ่านเพย์สบาย (Paysbuy) หรือ เพย์พอล (Paypal) นั่นเอง
5. มีไว้เท่ห์ๆ หรืออวดฐานะ สำหรับพวกวัตถุนิยม จากประเภทบัตร เช่น บัตรอภิมหาอภิสิทธิ์ บัตรกสิกรวิสดอม (Wisdom), บัตรแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด อีลิท ฯลฯ

ข้อเสียของการใช้บัตรเครดิต

1. เพิ่มหนี้สินให้ตัวเอง และสร้างความกังวลในการชำระหนี้ในภายหลัง ว่าจะครบกำหนดชำระเมื่อไหร่ ยอดจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น
2. หากไม่ชำระภายในวันที่กำหนดหรือไม่ได้ชำระเต็มจำนวน จะมีค่าปรับ + ดอกเบี้ย ให้ต้องชำระเพิ่มอีก
3. ดอกเบี้ยสูง เป็นภาระหนี้เพิ่ม นอกจากจะต้องชำระหนี้เงินต้นแล้วยังมีดอกเพิ่มให้ปวดหัว
4. สร้างความเคยตัวในการใช้เงิน เพิ่มความฟุ่มเฟือยในชีวิตประจำวัน


วิธีการเลือกใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด
             หากไม่อยากให้บัตรเครดิตมาครอบงำชีวิตของเราได้ เรามีวิธีใช้บัตรเครดิตมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด (เราจะขอยกตัวอย่างบัตรขึ้นมา อาจมีการเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไขของแต่ละบัตร ตามวันและเวลาที่เปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร แต่ข้อมูลที่กล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นประสบการณ์จากการใช้บัตรของผู้เขียน - ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2556)
  1. ศึกษาโปรโมชั่นและเงื่อนไขต่างๆของแต่ละบัตรก่อนสมัคร และเลือกใช้บัตรที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเรา *โปรดพิจารณาเรื่องระยะเวลาของโปรโมชั่น บางบัตรเสนอโปรโมชั่นพิเศษสุดๆ แต่อยู่ได้แค่ 3 เดือน หลังจากนั้น เราใช้รูดไปตั้งเยอะ มารู้ตัวอีกที ก็ตอนที่เห็นใบแจ้งยอดแล้วว่าไม่ได้เงินคืน  เราขอยกตัวอย่างการเลือกบัตรเครดิตดังนี้
    • หากเราบินสายการบินไทยบ่อยๆ เลือก บัตร KTC Royal Orchid Plus เพื่อสะสมไมล์แลกซื้อตั๋วบิน
    • หากเราช้อปปิ้งที่เซ็นทรัลบ่อยๆ เลือก บัตร Central Card ลด 5% เมื่อซื้อสินค้าในตัวห้างฯ
    • หากเราช้อปปิ้งที่พารากอน เดอะมอลล์ เอ็มโพเรียม เลือก บัตร Citi M Visa  ลด 5% เมื่อซื้อสินค้าในตัวห้างฯ ฯลฯ
    • หากเราเติมน้ำมันบ่อยๆ เลือกบัตรที่มี cash back ที่คืนเงินให้สูงๆ เช่น บัตร SCBT (Standard Chartered) 4-7% ทุกๆ800บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบัตรและระยะเวลาของโปรโมชั่น รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่เว็ปไซต์ของธนาคารผู้ออกบัตร 
    • หากเราจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ เองอยู่แล้ว หากชำระตามตัวแทน เช่น 7-eleven ก็จะมีค่าธรรมเนียม 15บาท หากเราผูกกับบัตรเครดิต ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แถมบัตรเครดิตของบางธนาคารยังสะสมคะแนนให้อีกด้วย เช่น บัตรเครดิตของกสิกรไทย (บัตรเครดิตส่วนใหญ่ จะไม่สะสมคะแนนให้การชำระค่าสาธารณูปโภค)
    • ฯลฯ
  2. ระวังค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนใหญ่จะได้สิทธิ์ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก ในปีถัดไปต้องมีการใช้จ่ายรายเดือน/รายปีครบตามที่ธนาคารกำหนด แต่หากใช้จ่ายไม่ถึงจริงๆ ก็สามารถโทรไปขอละเว้น (Wave) ค่าธรรมเนียมรายปีได้เมื่อครบปี แต่พอถึงเวลา ใครจะมานั่งจำว่าครบปีแล้ว จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงบัตรที่มีค่าธรรมเนียมรายปี ดีที่สุด หรือรอจนมันคิดค่าธรรมเนียมรวมอยู่ใน Statement แล้ว ค่อยโทรไปขอละเว้น ทางธนาคารก็จะให้ชำระแค่ยอดที่ยังไม่รวมค่าธรรมเนียม หรือหากขอละเว้นไม่ทัน ทางธนาคารก็จะเครดิตเงินคืนกลับมาให้ ในรอบบิลถัดไป
  3. จดบันทึกสิ่งสำคัญหลักๆของบัญชีบัตรเครดิต เมื่อได้บัตรที่ถูกใจแล้วก็ควรจดบันทึกหรือเก็บบิลรายเดือนไว้ เพื่อใช้ดูและติดตามชำระบัตรในแต่ละรอบบิล สิ่งสำคัญดังกล่าว ได้แก่ วันตัดรอบบิล(Cut-off Date) วันครบกำหนดชำระ (Payment Due Date) วงเงินบัตรเครดิต (Credit Line) หรืออาจจะดูดอกเบี้ย (Interest Rate) ดูเผื่อไว้ กันพลาด ส่วนใหญ่ธนาคารจะให้เครดิตระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยสูงสุดถึง 45-55 วัน หรือนับเป็น 15-25 วันนับจากวันตัดยอดบิล
    • KTC, กสิกร, กรุงเทพ, Citibank 15 วัน
    • Central Card 20 วัน
    • SCBT (Standard Chartered) 25 วัน
  4. วางแผนรายรับรายจ่าย เมื่อทราบวันครบกำหนดชำระแล้ว ก็วางแผนรายรับรายจ่ายของตนเอง เพื่อให้เหลือเงินเพียงพอมาชำระหนี้ภายในวันที่กำหนด เท่านี้ก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองในภายหลัง
    เพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ลืมชำระบัตรทุกงวด เราสามารถชำระบัตรเครดิตโดยหักจากบัญชีได้ (Direct Debit) ควรเปิดบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารเดียวกันกับบัตร เพื่อไม่ให้เสียค่าธรรมเนียมในการหักผ่านบัญชี บางบัตรสามารถหักจากบัญชีของธนาคารอื่นได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เช่น บัตร Citibank สามารถหักบัญชีธนาคารกสิกร กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา และไทยพาณิชย์ ได้
    วิธีนี้ บางท่านที่กลัวว่ารายจ่ายจะไม่ได้อยู่ในการควบคุม หมั่นนำสมุดคู่ฝาก (Passbook) ไปอัพเดทบ่อยๆ เพื่อตรวจดูความเคลื่อนไหว ซึ่งเดี๋ยวนี้สามารถเช็คผ่านทาง Online Banking หรือ Telephone Banking ได้แล้ว
  5. ใช้บัตรให้เหมาะสมกับสินค้าและบริการ เมื่อถึงคราวหยิบบัตรออกจากกระเป๋าสตางค์เพื่อใช้รูดซื้อสินค้าและบริการ อย่าลืมสังเกตุว่าสินค้านั้นๆอยู่ในรายการโปรโมชั่นที่จัดร่วมกับบัตรเครดิตที่เราถืออยู่ใช่หรือไม่
    • หากใช่ => ก็ตรวจดูเงื่อนไขในการใช้ด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าเราเล่นเกมตรงตามกติกาแล้วนะ เธอทำอะไรชั้นไม่ได้หรอก หึหึหึ!! 
    • หากไม่ใช่ => ก็ไม่เป็นไร หยิบบัตรใบที่เราใช้บ่อยที่สุดขึ้นมาใช้ (เพราะยังไงเดือนนี้ ชั้นก็ต้องไปชำระบัตรใบนี้อยู่แล้ว) หรือบัตรใบที่คิดว่าสะสมคะแนนได้ดีที่สุด เพราะแต่ละธนาคาร ของรางวัลหรือบัตรกำนันที่เสนอนั้นคล้ายๆกันหมด เลือกเอาตามอัธยาศัยเลยจ้า

การสะสมคะแนน และเอาคะแนนไปทำอะไร?

             นอกเหนือจากรายการโปรโมชั่น ให้เงินคืน หรือมีส่วนลด ก็มีการสะสมคะแนนให้แทน ซึ่งบัตรเครดิตส่วนใหญ่แล้วจะเสนอคล้ายๆกันคือ ทุกการใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท รับ 1 คะแนน จะมีผิดแปลกไปบ้างอย่างเช่น
  • บัตร SCBT MasterCard Platinum - ทุกๆ 20 บาท รับ 2 คะแนน 
  • บัตร Citibank Reward x3 - ทุก 25 บาท ได้ 3 คะแนน (จะได้มาจากคะแนนสะสมปกติ x2 + คะแนนสะสมเพิ่มอีก x1 ในรอบบัญชีที่มียอดใช้จ่ายรวม 3,000 - 30,000 บาท)
  • ฯลฯ
โดยคะแนนสะสม สามารถแลกเป็นเงินเครดิตคืนเข้าบัตร โดยมากจะอยู่ที่ 1000 คะแนน ได้ 100 บาท คิดเป็น 10% ของคะแนน หรือประมาณ 0.4% ของเงินที่ใช้จ่ายไปนั่นเอง คำนวนแล้วไม่คุ้ม จึงนำคะแนนที่ได้ไปแลกคูปอง หรือสินค้าอย่างอื่นที่อาจมีมูลค่าสูงกว่า 100 ต่อ 1000 คะแนนดีกว่า หรือนำไปใช้ on-top เมื่อรูดซื้อสินค้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นในแต่ละช่วง

ตัวอย่างเช่น โปรโมชั่นซื้อสินค้าในห้างฯ เฉพาะแบรนด์และบัตรที่ร่วมรายการ นำคะแนนเท่ากับยอดซื้อหลังลดแล้ว ได้ discount-on-top อีก 13% สมมติซื้อรองเท้าราคา 3,200 บาท ใช้คะแนนจากบัตที่ร่วมรายการ อีก 3,200 คะแนน (คะแนนเท่ายอดซื้อ) ได้ลดอีก 13% เหลือ 2,784 บาท เท่ากับว่า ใช้ 3,200 คะแนน ลดไปเป็นเงิน 416 บาท ดีกว่าแลกคะแนนเป็นเงินทั่วไป 3,000 คะแนน ได้เพียง 300 บาท

หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่าน ไม่มากก็น้อยค่ะ

5 ความคิดเห็น:

NuttHunnie กล่าวว่า...

Updated Sep 2013

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีประโยชน์มากเลยครับ ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ :)

Unknown กล่าวว่า...

มีประโยชน์ครับขอบคุณมากๆครับ

NuttHunnie กล่าวว่า...

ยินดีค่ะ เล่าจากประสบการณ์ตัวเอง แต่หลังๆมานี้ โปรโมชั่นที่น่าสนใจหลายตัวเลิกไปแล้ว ช่างน่าเศร้าค่ะ T.T

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก